เราสังเกตเห็นว่าคุณกําลังเยี่ยมชมเว็บไซต์ของสหราชอาณาจักร คุณต้องการเยี่ยมชมเว็บไซต์หลักของเราแทนหรือไม่?

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความทนทานของ SSD: TBW และ DWPD

SSD ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ และนิยมใช้งานทั้งในศูนย์ข้อมูล เครื่องพีซี โน้ตบุ๊ก ตลอดจนการใช้งานหรือระบบอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่จัดเก็บข้อมูล ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องเจาะลึกรายละเอียดนอกเหนือจากความเร็วและความจุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องการทราบว่าไดรฟ์จะใช้งานได้นานแค่ไหน

ตัวชี้วัดหลัก ๆ สองตัวที่ใช้ระบุความทนทานของไดรฟ์ ได้แก่ จำนวนเทระไบต์ที่เขียน (TBW) และจำนวนการเขียนข้อมูลของไดรฟ์ต่อวัน (DWPD) ในบทความนี้ เราจะมาดูความแตกต่างระหว่างตัวชี้วัดทั้งสองและวิธีการคำนวณค่า

จำนวนเทระไบต์ที่เขียน (TBW)

สรุปอย่างง่าย ๆ ก็คือ TBW คือจำนวนข้อมูลทั้งหมดที่สามารถเขียนลงบนไดรฟ์ SSD ได้ตลอดอายุการใช้งานของไดรฟ์ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่บอกได้อย่างชัดเจนว่าไดรฟ์นั้นใช้งานได้นานแค่ไหนภายใต้สภาวะการใช้งานตามปกติ เราคำนวณ TBW โดยการคูณความจุของไดรฟ์ด้วยจำนวนรอบ Program/Erase (P/E) ที่บล็อก NAND แต่ละบล็อกสามารถทำได้ตามที่เซมิคอนดักเตอร์ระบุเอาไว้ จากนั้นหารค่าที่ได้ด้วย Write Amplification Factor (WAF)

รอบ P/E คือจำนวนครั้งที่สามารถเขียนและลบข้อมูลออกจากเซลล์หน่วยความจำก่อนที่หน่วยความจำนั้นจะไม่น่าเชื่อถือและทำงานไม่เสถียรอีกต่อไป ส่วน WAF แสดงว่า SSD จะต้องทำงานเพิ่มอีกเท่าใดในการจัดเก็บข้อมูล

แฟลช NAND มีข้อจำกัดในแง่ของจำนวนรอบ P/E ที่สามารถทนทานได้ เพราะว่าชั้นออกไซด์ที่กักเก็บอิเล็กตรอนไว้ภายในเซลล์หน่วยความจำจะค่อย ๆ เสื่อมลงไปเรื่อย ๆ เมื่อถูกใช้งานซ้ำ ๆ อัตราความทนทานของ SSD มีไว้เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

แต่เราขออนุญาตยกตัวอย่าง TBW ของจริงเพื่อช่วยให้คุณเข้าใจได้ง่ายขึ้น
หาก SSD มีความจุ 1.92TB และ TBW อยู่ที่ 3,504 แสดงว่าไดรฟ์ทนทานต่อการเขียนข้อมูลได้ 3,504TB ก่อนที่ไดรฟ์จะเริ่มมีโอกาสทำงานล้มเหลว

จำนวนการเขียนข้อมูลของไดรฟ์ต่อวัน (DWPD)

ในทางตรงกันข้าม DWPD จะมองต่างออกไปเล็กน้อยและคำนวณจำนวนครั้งที่เราสามารถเขียนข้อมูลลงบนไดรฟ์แบบเต็มพื้นที่ต่อวัน ตลอดอายุการใช้งานภายใต้การรับประกัน ตัวชี้วัดนี้สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการทำงานที่มีเวิร์กโหลดหนักหน่วง เช่น เซิร์ฟเวอร์หรือศูนย์ข้อมูล

อย่างไรก็ตาม เราจะใช้ค่า TBW และคำนวณตัวชี้วัดนี้ตามระยะเวลารับประกันเป็นจำนวนวัน คูณด้วยความจุรวม ซึ่งจะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นอัตราส่วน สูตรที่ใช้คือ

จำนวนการเขียนข้อมูลของไดรฟ์ต่อวัน = TBW ของ SSD x 1000
365 วัน x จำนวนปีรับประกัน x ความจุของ SSD หน่วยเป็น GB

ตัวอย่างเช่น หาก 7.68TB SSD มี TBW 14,016 และระยะเวลารับประกัน 5 ปี การคำนวณ DWPD จะเป็นดังนี้

จำนวนการเขียนข้อมูลของไดรฟ์ต่อวัน = 14,016 x 1,000
365 (วัน) x 5 (ปี) x 7680 (GB)

ผลลัพธ์ที่ได้คือ 1 DWPD ซึ่งหมายความว่า SSD ทนทานต่อการเขียนข้อมูลเต็มความจุได้ทุกวันตลอดระยะเวลารับประกัน 5 ปี

สรุป

กล่าวโดยสรุป TBW มีประโยชน์ในการทำความเข้าใจความทนทานโดยรวมของไดรฟ์ตลอดอายุการใช้งาน ส่วน DWPD คือกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจว่าไดรฟ์ทนทานต่อการทำงานในแต่ละวันได้ดีแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้งานในองค์กรและศูนย์ข้อมูล ตัวชี้วัดทั้งสองเป็นข้อพิจารณาที่สำคัญในการเลือก SSD โดยเฉพาะเมื่อคุณต้องการใช้ไดรฟ์กับการทำงานที่ต้องจัดการข้อมูลปริมาณมากและเขียนข้อมูลลงไดรฟ์ตลอดเวลา

หากคุณต้องการความช่วยเหลือในการเลือกไดรฟ์ SSD ที่เหมาะสม ฝ่าย Ask an Expert ของเราพร้อมตอบคำถามและมอบคำแนะนำที่เป็นกลางให้กับคุณ ไม่ว่าความต้องการของคุณคืออะไร

ถามผู้เชี่ยวชาญระบบ SSD

 ถามผู้เชี่ยวชาญระบบ SSD

Kingston ขอนำเสนอข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับข้อดีต่าง ๆ ของ Enterprise SSD สำหรับระบบจัดเก็บข้อมูลของคุณ และ SSD ที่เหมาะกับการการทำงานของคุณที่ต้องการความสมดุลระหว่างงานอ่านและเขียนข้อมูลแบบสุ่มในระดับสูงและ IOPS ในระดับที่มีเสถียรภาพเต็มที่

ถามผู้เชี่ยวชาญ

บทความที่เกี่ยวข้อง